เทคนิคการสัมภาษณ์งานในยุคใหม่ นักบริหารงานบุคคลได้เริ่มมีความใส่ใจเรื่อง การสัมภาษณ์งานกันมากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ ใช้วิธีการนำไปเก็บตัวเข้าค่ายก่อน เพื่อตรวจสอบประวัติหรือพฤติกรรมที่แสดงออกมาในช่วงที่ทำกิจกรรม แล้วนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำนายผล หรือบางแห่งใช้วิธีการดูโหวงเฮ้ง ว่าจะมีลักษณะที่เหมาะสมกับองค์การที่ทำงานหรือไม่ ดวงของผู้ถูกสัมภาษณ์นั้นเข้ากับหัวหน้าได้หรือเปล่า  นั่นก็คือขั้นตอนการสรรหาคัดเลือกคนเข้าสู่องค์การ แต่อย่างไรก็ตาม การสรรหาคัดเลือก สิ่งที่ไม่ควรทิ้งประเด็นไปก็คือ การพิจารณาข้อมูลส่วนตัว(Biodata) ของผู้ถูกสัมภาษณ์ ซึ่ง HR จะต้องเริ่มทำการตรวจสอบประวัติจากใบสมัครตั้งแต่ตอนกรอกใบสมัครและสัมภาษณ์เบื้องต้น

ผู้เขียนจะขออธิบายรายละเอียดในการตรวจสอบประวัติส่วนตัวของผู้ถูกสัมภาษณ์ดังต่อไปนี้

1.การเปลี่ยนชื่อ-สกุลของผู้ถูกสัมภาษณ์

2.ประวัติครอบครัว

3.ความถี่การย้ายสถานศึกษา

4.เกรดเฉลี่ย

5.ใบแจ้งผลการเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำมาเป็นประเด็นในการพิจารณาได้อีกเช่นกัน คือ เรื่องความคิดเห็นของคุณครูประจำชั้น ที่เขียนในใบแจ้งผลการเรียนว่า นักเรียนคนนี้มีพฤติกรรม จุดอ่อน จุดแข็ง อย่างไร วิชาที่ได้เกรดเฉลี่ยน้อยสุด เป็นวิชาที่องค์การ ต้องการหรือไม่ เช่น บริษัทต้องการรับตำแหน่ง เจ้าหน้าที่บุคคล

6.กิจกรรมระหว่างการศึกษาก็จะสามารถเป็นแนวทางในการพิจารณาเรื่อง ทัศนคติของพนักงาน ว่ามีพฤติกรรมไปในลักษณะใด ชอบเก็บตัว ชอบอ่านหนังสือ ชอบการแสดงออก และชอบเป็นผู้นำ

7.ประวัติการทำงานกรณีที่ผู้ถูกสัมภาษณ์มีประวัติการทำงานที่อื่นมาแล้ว ก็จะต้องพิจารณาถึง เรื่อง ความสัมพันธ์ของเพื่อร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาในที่ทำงานเดิมว่าเป็นอย่างไร ทิศทางในการดำเนินชีวิตของผู้สมัครว่ามีแนวคิดอย่างไร

8.อัตราเงินเดือนที่ต้องการประเด็นพิจารณาอยู่ตรงที่ ว่าผู้ถูกสัมภาษณ์มีความคาดหวังเกี่ยวกับผลตอบแทนเป็นอย่างไร มีการประเมินตนเองหรือไม่ หรืออาจะพิจารณาถึงเรื่อง การลาออกจากที่เดิมมาเพื่อ ต้องการเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น แต่ความสามารถและทักษะไม่เพิ่มตามไปด้วย

9.ประวัติการพัฒนาฝึกอบรม

10.งานอดิเรกสามารถคาดเดาถึงเรื่อง ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้ถูกสัมภาษณ์ว่ามีความชอบ ไปในลักษณะใด เช่น ชอบอ่านหนังสือ ก็อาจจะคาดเดาได้ว่า ผู้ถูกสัมภาษณ์ชอบการค้นคว้าหาความรู้

จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นการนำข้อมูลส่วนตัวมาพิจารณาในการสรรหาคัดเลือกคนเข้าสู่องค์การ ซึ่งแต่ละองค์การก็จะมีคณะกรรมการพิจาณาเพิ่มเติมหรือตรวจสอบข้อมูลอีกระดับหนึ่ง ถ้าใช้หน่วยงาน HR อย่างเดียวก็จะได้ข้อมูลที่อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะให้เจ้าหน้าที่บุคคลที่มีประสบการณ์น้อย ก็จะทำให้ได้ข้อมูลที่ผิดพลาดได้เช่นกัน เพราะว่าทักษะในการสัมภาษณ์และการตั้งคำถาม ของผู้มีประสบการณ์น้อยจะทำให้ไม่ได้ข้อมูลที่เป็นจริงของผู้ถูกสัมภาษณ์ได้

ในปัจจุบันข้อมูลส่วนตัวของผู้ถูกสัมภาษณ์ มีกฎหมายสิทธิมนุษยชนให้ความคุ้มครองเรื่อง ข้อมูลส่วนตัว จึงทำให้การสัมภาษณ์ในเรื่องนี้ ค่อนข้างลำบากมากขึ้น นักบริหารงานบุคคล จึงต้องคิดค้นวิธีการที่จะให้ได้มา ซึ่งข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อไม่ให้ผู้ถูกสัมภาษณ์มีความรู้สึกว่า องค์การได้ล่วงเกินเรื่องส่วนตัวของเขามากเกินไป  จึงได้มีการคิดค้นในการออกแบบสอบถาม เรื่องข้อมูลส่วนตัวของผู้ถูกสัมภาษณ์ โดยไม่ให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี และผู้ถูกสัมภาษณ์เองก็ยินดีที่จะตอบโดยไม่ได้ถูกบังคับจากบริษัท และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความผิดของกฎหมายสิทธิมนุษยชน อีกด้วยเช่นกัน

ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างแบบสอบถามที่ ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์สามารถ กรอกด้วยความเต็มใจ

 

คำถามเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว (Biodata)
เลือกคำถามที่ใกล้เคียง หรือ “ตรง” กับตัวท่านมากที่สุดเพียง 1 คำตอบ
1. ตอนเด็กๆ พ่อ-แม่ ของท่าน

  1. ช่วยท่านทำการบ้านเสมอ
  2. มักช่วยท่านทำการบ้าน
  3. ช่วยท่านทำการบ้าน เมื่อมีเวลาว่าง
  4. ไม่เคยช่วยท่านทำการบ้านเลย
  5. อื่นๆ (ระบุ) …………………………….
2. ยามว่างท่านมักจะ

  1. ไปเดินซื้อของ หรือดูหนังกับเพื่อน/ร้องเพลง
  2. อยู่บ้านอ่านหนังสือ และช่วยสอนหนังสือให้กับเด็ก
  3. ออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา
  4. ไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด
  5. อื่นๆ (ระบุ) …………………………….
3. วิธีการเก็บเงินของท่าน คือ

  1. ฝากธนาคาร
  2. เล่นหุ้น
  3. ซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือสลากออมสิน
  4. ซื้อทอง หรืออสังหาริมทรัพย์
  5. อื่นๆ (ระบุ) …………………………….
4. แผนการในอนาคตของท่าน ในอีก 3 ปีนับจากนี้ไป คือ

  1. ทำธุรกิจส่วนตัว
  2. เป็นผู้บริหารระดับที่สูงขึ้น
  3. เรียนต่อในระดับปริญญาโท/เอก
  4. ช่วยเหลือสังคม
  5. อื่นๆ (ระบุ) …………………………….

สิ่งที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ก็เป็นส่วนหนึ่ง ของการทำนายผลด้วยข้อมูลส่วนตัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอน ของการสรรหาคัดเลือกคนเข้าสู่องค์การ จาก 10 หัวข้อที่กล่าวมาข้างต้น กระบวนการสัมภาษณ์งานนอกจากจะได้ข้อมูลมาทั้งหมดแล้ว ใช่ว่าจะทำนายได้ถูกต้องแม่นยำ ก็หาไม่  ต้องใช้ทักษะในการสัมภาษณ์ของผู้บริหารส่วนหนึ่ง ในการพิจารณาถึงข้อมูล ความเป็นไปได้ประกอบด้วย บางครั้งประสบการณ์ก็เป็นตัวช่วยให้ ผลการทำนาย ออกมาเป็นจริงมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ดร. กฤติน กุลเพ็ง

“ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประสบการณ์ในการทำงานในเครือซิเมนต์ไทยมา 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ สอนด้าน Human Resource Management มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน”