เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว  Internet การสื่อสารไร้สายได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก ย่อโลกให้เล็กลง ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด การทำธุรกิจ การบริหารงานองค์กรทุกอย่างจึงจะต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากระแสโลกด้วยเช่นกัน  ทุกอย่างต้องรวดเร็วมากขึ้น  ต้องแม่นยำมากขึ้น เพียงแค่เสี้ยวนาทีทุกอย่างอาจเปลียนแปลงจนไม่เหลือเค้าโครงเดิมก็ได้  นี่คือสภาพของการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน องค์ธุรกิจจึงต้องหาวิธี ที่จะช่วงชิงโอกาส ที่มีเวลาอันน้อยนิดเหล่านี้  หากองค์กรใด ยังใช้วิธีการเดิม ๆ ในการทำงาน ความสามารถทางการแข่งขันก็จะด้อยลงทันที และแน่นอนงานบริหารทรัพยากรบุคคลหรือ หน่วยงาน HR ส่วนงานที่องค์กรธุรกิจไม่ควรมองข้าม ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับตัวด้วย วันนี้เราจะมาดูกันว่าหน่วยงาน HR ในยุคดิจิทัลนั้น ควรมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรบ้าง

  1. ต้องเป็นนักวางแผนเชิงกลยุทธ์ HR ยุคดิจิทัลต้องรู้กว้างและรู้ลึก จำเป็นต้องรู้มากกว่างานประจำที่ทำอยู่ทุกวัน ต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ต้องรู้กระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รู้ถึงโครงสร้างตำแหน่งต่าง ๆ ภายในองค์กร รู้การตลาด และรู้ว่าคู่แข่งขันในธุรกิจเป็นอย่างไร รู้กระบวนการผลิต ปัจจัยต่างๆที่ผลต่อการดำเนินงานขององค์กร และสามารถลำดับประเด็นสำคัญทางธุรกิจได้ เมื่อมีความรู้รอบด้าน  เมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ ก็จะสามารถปรับตัวได้ทัน คือ ด้วยความรู้ที่มากมาย HR จะสามารถวางกลยุทธ์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  1. ต้องรู้จักการบริหารความหลากหลายของพนักงานหลายกลุ่มขององค์กร  ในองค์หนึ่ง ๆ เป็นไปได้ว่าอาจมีคนภายในองค์กรหลากหลาย Generation ทำงานร่วมกันอยู่ ซึ่งคนแต่ละรุ่นก็มักจะจับกลุ่มทำงานกับคนในรุ่นเดียวกัน แม้ว่ามีบ้างทีจะต้องทำงานร่วมกันก็ตาม แต่ด้วยความหลากหลาย Generation นี้เองจึงมีส่วนอย่างยิ่งที่ เป็นอุปสรรคต่อองค์กร   หน่วยงาน HR ต้องรู้จักหาวิธี ที่จะย่อความห่างเหล่านี้ ให้เล็กลงมากที่สุด โดยให้คนหลาย ๆ รุ่น หลาย ๆ แนวคิดอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา สิ่งที่ HR จะต้องเข้ามามีบทบาทมากก็คือ การเป็นผู้ประสานสิบทิศ ยอมรับรับฟังความคิดเห็น ของพนักงานที่มีความหลากหลาย เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันหรือพบกันครึ่งทาง พูดง่ายๆ ก็คือ พยายามสร้างบรรยากาศของออฟฟิศ  ที่ทำงาน ให้ดูเหมือนบ้าน ให้รู้สึกถึงความเป็นครอบครัว ใช้คำเรียกกันและกันง่าย ๆให้รู้สึกถึงความเป็นพี่น้อง แต่ก่อนที่ จะปรับก็ต้องดูความเหมาะสมด้วย ต้องประเมินด้วยว่าคนแต่ละกลุ่มจะรับได้หรือไม่
  2. เครื่องมือในการสรรหาคัดเลือกบุคคลากรด้วยวิธีการใหม่ๆ เพื่อเป็นการตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่ ที่มีทักษะความสามารถทางด้านดิจิทัลที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว  ต้องเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่กระหายเทคโนโลยี พวกเขาเกิดมาพร้อม ๆ กับเทคโนโลยี การปรับมาใช้วิธีการที่สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ก็น่าจะเป็นอะไรที่เหมาะสมไม่น้อย คุณอาจไม่จำเป็นต้องทิ้งวิธีการเดิมที่เคยปฏิบัติมาเสียเลยทีเดียว อาจจะคงไว้และเสริมเพิ่มเติมด้วยวิธีการใหม่ ๆ เช่นการใช้ Social Media อย่าง Facebook  Twitter  YouTube  Line แม้ว่าช่องทางเหล่านี้ จะมีช่องโหว่มากมายก็ตาม แต่ก็มีโอกาสไม่น้อยที่ คุณจะได้คนที่มีคุณภาพเข้าทำงานในองค์กรผ่านช่องทางออนไลน์เหล่านี้  หรือการรับสมัครออนไลน์แล้วนัด สัมภาษณ์ก็เป็นวิธี ที่ดีเหมือนกัน อยู่ที่คุณจะถนัดอย่างไร คุณต้องอย่าลืมว่าปัจจุบันมีคนสมัครงานผ่านระบบออนไลน์ไม่น้อย หน่วยงาน HR มีโอกาสมาก ที่จะสรรหาคนที่มีศักยภาพ จัดคนให้ตรงกับงานและให้งานที่เหมาะสม ส่งเสริมคน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคน  ที่ส่งเสริมองค์กรให้เข้มแข็ง ดังนั้น วิธีเก่าที่ดีอยู่แล้วอย่าทิ้ง แต่ลองใช้วิธีใหม่ประกบไปด้วยก็จะดีกว่า  เพื่อเป็นการเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย ทั้งสองวิธี  ในการหาข้อมูลในการตัดสินใจเลือกแนวทางที่เหมาะสม สำหรับองค์กร
  3. ความสามารถในการเรียนรู้งานมากกว่า 1 หน้าที่ HR ยุคดิจิทัล ต้องมีความสามารถหลากหลายมากขึ้น เพราะโครงสร้างขององค์กร มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะปรับให้เข้ากับสภาพสังคมและกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น ใครที่ทำงานได้มากกว่า 1 หน้าที่ ย่อมได้เปรียบ เพราะคุณจะเป็นคนที่ต้องการขององค์กรมากขึ้น หาก HR สามารถทำหน้าที่ด้าน การจัดหาบุคลากรการสรรหาคัดเลือกคนเข้าสู่องค์กร  การทำโครงสร้างเงินเดือนได้ และ สามารถฝึกสอน/พัฒนาคนรุ่นใหม่ได้ด้วย คุณก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ  ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เอง ที่เป็นลักษณะเด่นของ HR ในยุคดิจิทัล
  1. เทคนิคการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลก่อนนำไปปฏิบัติงาน นอกจากจะต้องมีความรู้รอบแล้ว ยังต้องคิดวิเคราะห์ได้รอบด้านด้วยเช่นกัน บางคนรู้รอบด้าน แต่รู้อย่างเดียว คือ รับข้อมูลได้อย่างเดียว แต่ประมวลผลข้อมูลไม่ได้ ดังนั้น HR ในยุคดิจิทัล ก็ต้องปรับตัวเองให้เข้าสู่ระบบดิจิทัลด้วย ให้ตัวเองกลายเป็นคอมพิวเตอร์ที่มี CPU แรง ๆ ฮาร์ดดิสก์มาก ๆ แรมจัดเต็ม สามารถที่จะรับข้อมูลได้มากและรอบด้าน คิดวิเคราะห์ได้และประมวลผลได้ด้วย และที่สำคัญไปกว่านั้นเมื่อประมวลผลได้ก็ต้องตัดสินใจได้ด้วย ว่าจะทำอย่างไรกับข้อมูลที่มีอยู่  ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมากเพราะการตัดสินใจบางครั้ง สามารถช่วยให้องค์กรลดภาระและขั้นตอนการทำงานได้มากมายทีเดียว  กล่าวโดยสรุปก็คือ HR มีข้อมูลที่พร้อมอยู่แล้ว สามารถนำขึ้นมาใช้ได้ถูกต้อง  และตรงตามที่องค์กรต้องการนั่นเอง
  1. การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สำหรับในหัวข้อนี้ เป็นสิ่งที่ HR ต้องสร้างสมประสบการณ์ตรง ด้วยความหลากหลายที่เจอปัญหามา ซึ่งจำเป็นจะต้องตัดสินใจแก้ปัญหาได้ทันท่วงที   ปัจจัยนี้อยู่ที่การสะสมความรู้และประสบการณ์ด้วย ซึ่งในเรื่องของความรู้ HR สามารถหาได้มากมายในยุคดิจิทัลนี้ แต่ประสบการณ์ก็ต้องเกิดจากการลองผิดลองถูกกับข้อมูลที่ได้รับมา สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างประสบการณ์ ในการนำไปแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

      7.ความรอบรู้ในเชิงธุรกิจขององค์กร ต้องรู้ข้อเท็จจริงทางธุรกิจด้วย ต้องรู้ว่าทำงานกับใคร ลูกค้าเป็นใคร ปัจจัย ความเสี่ยงของธุรกิจมีอะไรบ้าง
คู่แข่งของบริษัทมีใครบ้าง และบริษัทของเราอยู่ในอันดับที่เท่าไรของธุรกิจ  บทบาทของ HR ในยุคดิจิทัล จึงเป็นบทบาทที่มีความสำคัญและมีความหลากหลาย ไม่เพียง  HR เท่านั้นที่ต้องเข้าใจบทบาทใหม่ ภารกิจใหม่ แม้แต่ CEO ก็ต้องเข้าใจในบทบาทของ HR ใหม่ด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าผู้บริหารยุคปัจจุบันต่างคาดหวังที่จะเห็นบทบาทใหม่ของ HR ที่ไม่ใช่แค่การรับสมัครคนเข้าทำงานและจ่ายเงินเดือน แต่ก็มีไม่น้อยที่  ผู้บริหารยังไม่ชัดเจนในตัวเอง รู้ว่าต้องการอะไรแต่ก็สร้างปัจจัยให้ ไม่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างก้าวไปเร็วกว่าที่คิด HR จึงต้องเพิ่มคุณค่าให้ตนเองด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด พลิกบทบาท และการจัดการ เพื่อนำพาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าตามอย่างที่ควรจะเป็นจากเดิมที่ HR เคยมองตนเองเป็นศูนย์กลาง แต่มาในยุคปัจจุบัน HR ต้องมองคนอื่นเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่ต้องทำปรับเปลี่ยนตนเองให้สอดรับกับความต้องการของผู้คน ซึ่งแน่นอนว่าถ้าปรับ แบบนี้ ก็ย่อมต้องสอดคล้องกับองค์กร ธุรกิจในปัจจุบันทียึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และสามารถสวมบทบาทในการช่วยผู้บริหารวางแผนกลยุทธ์ ในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลด้วย  คือสามารถเป็นเพื่อนคู่คิดของผู้บริหารได้ด้วย

จริง ๆ แล้วหน้าที่หลักของ HR  มีอยู่ 4  ประการ คือ การสรรหาบุคลากร  พัฒนาบุคคลากร  รักษาบุคคลากร และการส่งเสริมบุคลากร ให้กับองค์กร ซึ่งมองดูแล้วเหมือนง่ายและไม่มีอะไร แต่จริงๆ แล้วขั้นตอนในการทำงานจริงๆ มีมากมายมหาศาล HR ในยุคใหม่นี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีการใหม่ๆ มาบริหารจัดการกับหน้าที่หลักที่ต้องทำ เพื่อให้ประสิทธิภาพดีขึ้น มีความรวดเร็วและแม่นยำขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอยู่ไม่น้อยที่  HR ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด ปรับเปลี่ยนวิธี การทำงาน ให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน โดยเฉพาะบุคลากรภายในองค์กรมีความหลากหลายด้วยเช่นกัน ซึ่งก็เป็นการยากทีเดียวที่ HR ต้องหาจุดลงตัวให้ได้

 

            ดร.กฤติน   กุลเพ็ง   กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ไอโอดีคอนเซาท์ติ้ง แอนด์เทรนนิ่ง จำกัด

           วิทยากรและที่ปรึกษา ให้กับภาครัฐและภาคเอกชน     ID line:  krittin6

 


  บทความ     
  1154 views     Comments