บริษัทที่ได้ทำการประเมิน competency ของพนักงานทั้งองค์กร  เพื่อมาดำเนินการจัดทำ  แผนฝึกอบรมประจำปี  โดยนำ competency gap  มาเป็นข้อมูลในการออกแบบหลักสูตรในการฝึกอบรมประจำปี  ซึ่งเป็นที่มาของหลักสูตร  ที่พนักงานของแต่ละคนที่ได้รับผลการประเมินต่ำกว่ามาตรฐาน  ที่องค์กรคาดหวัง  จะต้องมาเข้าสัมมนาของแต่ละหลักสูตรที่บริษัทได้จัดให้ของแต่ละปี  นั่นคือ ความเป็นที่มาของการจัดทำหลักสูตร หรือที่หน่วยงาน HR เรียกว่า การหาความต้องการในการฝึกอบรม  สิ่งที่อยากจะบอกกับผู้บริหารองค์กรและหน่วยงาน HR  ที่จะต้องทำความเข้าใจ และมีความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์  ที่จะต้องมาเข้ารับการสัมมนา ในหลักสูตรที่บริษัทได้จัดไว้ให้

 

โดยทั่วไป  ถ้ามีการจัดหลักสูตรการฝึกอบรม และมีการแจ้งพนักงานให้เข้ารับการอบรมของแต่ละปี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในสิ่งที่พนักงานยังขาด ความรู้ และทักษะ อยู่  ถ้าผ่านการอบรมในหลักสูตรนี้  พนักงานจะได้รับการพิจารณา  การปรับระดับของพนักงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นไป  ก็จะทำให้ความรู้สึกของพนักงานที่ได้เข้ารับการฝึกอบรม  จะมีแรงจูงใจในการไขว่คว้าหาความรู้ ในหลักสูตรนั้นๆ และจะมองการจัดการฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ว่าเป็นสิ่งที่ดี  ที่ผู้บริหารองค์กรได้จัดให้กับตัวเขาเอง  ซึ่งจะเป็นภาพมุมมองของพนักงานที่คิดในเชิงบวกกับบริษัท

 

ในบางบริษัทที่มีการจัดการฝึกอบรมให้กับพนักงาน  ในแต่ละปี ซึ่งข้อมูลและที่มาคล้ายคลึงกันเลย  แต่ได้ระบุที่มาของหลักสูตร ให้พนักงานที่ได้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับทราบถึงที่มาของหลักสูตรว่า กระบวนการที่มาของหลักสูตรอย่างไรบ้าง  และระบุชื่อหลักสูตรของการฝึกอบรมนั้นๆ ว่า  เป็นการปิด gap  อีกด้วย  พนักงานที่ได้รับการคัดเลือก  ให้เข้ามารับการฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าว เกิดความรู้สึกว่า  บริษัทประเมินตัวเขาเองว่า เป็นคนทำงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือสิ่งที่คาดหวังขององค์กร  จึงทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกน้อยใจ ที่หัวหน้าและบริษัทได้มองภาพตัวของเขาว่าเป็นคนที่ทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน  ซึ่งทำให้พนักงานที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรม  เกิดความรู้สึกต่อต้าน  ไม่ได้สร้างแรงจูงใจ ที่จะเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่บริษัทได้จัดให้เลย  ทำให้เสียค่าใช้จ่าย งบประมาณ การฝึกอบรมโดยใช่เหตุ  หลักสูตรการฝึกอบรมแทนที่จะเป็นตัวสร้างให้พนักงานเกิดขวัญกำลังใจที่ดี รักองค์กร  สร้างมูลค่าเพิ่ม  แต่ทำให้พนักงานมองภาพของบริษัท  และผู้บริหารในทางที่ลบ ยิ่งเกิดความเสียหายต่อองค์กรอย่างมากมายเลยทีเดียว

 

จากประสบการณ์ของผู้เขียนได้ถูกเชิญให้เป็นวิทยากร  ในการบรรยายในหลักสูตรของการปิด competency gap  ขององค์กรแห่งหนึ่ง  บรรยากาศของห้องเรียนในวันดังกล่าว จะพบสภาพของผู้เข้าสัมมนา  ที่เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อหัวหน้า และบริษัท  ว่าได้จัดให้เขามาเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้ได้อย่างไร  ทั้งๆ  ที่ตัวเขาเองได้มีความตั้งใจ  ในการปฏิบัติงานเป็นอย่างดี  ไม่ควรจะได้รับผลการประเมินจากหัวหน้าในลักษณะเช่นนี้  และไม่มีการชี้แจงจากหัวหน้าและผู้บริหารเลย  ทำให้บรรยากาศในการฝึกอบรมในวันนั้น  เป็นการระบายความในใจเสียเป็นส่วนใหญ่  ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกของพนักงาน เกิดความอยากรู้  และการพัฒนาตัวเอง  ในสิ่งบริษัทได้ ออกแบบหลักสูตรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ  สิ่งนี้ที่ผู้เขียนอยากจะมาบอกต่อไปยังผู้บริหารองค์กร โดยเฉพาะหน่วยงาน HR  ที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักสูตร  ที่ได้จัดการฝึกอบรมให้เป็นไปตาม  ความต้องการในการฝึกอบรมของแต่ละปี

 

แนวทางในการแก้ไขปรับปรุง  เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกของพนักงานดังกล่าว  ในทัศนะของผู้เขียน  มองว่า การออกแบบหลักสูตรที่ได้มานั้น  สิ่งที่เป็นเบื้องลึกของการได้มาของข้อมูลบางอย่างก็ไม่จำเป็น ต้องบอกพนักงานทุกเรื่องก็ได้ ปล่อยให้เป็นความลับของสุสานบ้าง  เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีของพนักงานตามที่เล่ามาข้างต้นได้   การใช้ชื่อหลักสูตรไม่ควรใช้คำพูดในเชิงลบ เช่น หลักสูตรการปิด gap ของพนักงาน    หลักสูตรการจัดการพนักงานที่มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐาน  เป็นต้น  คำต่างๆ เหล่านี้ ควรหลีกเลี่ยง  เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อพนักงาน  ถ้าในทางตรงกันข้าม  เราชี้แจงพนักงานว่า หลักสูตรนี้ เป็นหลักสูตรที่สำคัญ  พนักงานที่ได้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้  จะเป็นพนักงาน ที่ได้รับการคัดเลือกจากหน่วยงานทั้งบริษัท  ซึ่งมีจำนวนจำกัดในแต่ละปีเท่านั้น  พนักงานที่ได้รับการพิจารณาเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้  จะได้รับการพิจารณาเสนอชื่อเป็น หัวหน้า/ผู้จัดการต่อไป   ก็จะยิ่งทำให้หลักสูตรนี้มีความสำคัญ  ในสายตาของพนักงานมากกว่า  ที่บริษัทได้ดำเนินการตามหลักวิชาการจนเกินไป